Doctor At Home: โรคแอดดิสัน (Addison’s disease)โรคแอดดิสัน หมายถึง ภาวะพร่องฮอร์โมนสเตียรอยด์เรื้อรัง (chronic adrenocortical insufficiency)* เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก พบมากในคนอายุ 30-50 ปี เป็นโรคที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
* ส่วนภาวะพร่องฮอร์โมนสเตียรอยด์เฉียบพลัน (acute adrenocortical insufficiency) มักเกิดจากการหยุดยาสเตียรอยด์ทันที ในผู้ป่วยที่กินยาสเตียรอยด์ติดต่อกันมานาน ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ (หรือภาวะพร่องฮอร์โมนสเตียรอยด์) จากยาสเตียรอยด์ที่ใช้มานาน เมื่อหยุดยา ร่างกายก็เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนสเตียรอยด์อย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดภาวะช็อกถึงตายได้ เรียกว่า ภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ (adrenal crisis) ดูเพิ่มเติมใน “ภาวะช็อก” และ “โรคคุชชิง”
สาเหตุ
เกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ได้น้อยกว่าปกติ ตรงกันข้ามกับโรคคุชชิงที่สร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากต่อมหมวกไตส่วนเปลือกถูกทำลายหรือฝ่อ เนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิต้านทานตนเอง อาจพบร่วมกับต่อมไทรอยด์อักเสบ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ เบาหวาน ผมร่วงเป็นหย่อมไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
ส่วนน้อยอาจเกิดจากเป็นวัณโรคของต่อมหมวกไต หรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น (เช่น ปอด เต้านม) โรคติดเชื้อราของต่อมหมวกไต (ในผู้ป่วยเอดส์) หรืออาจเกิดจากยา (เช่น คีโตโคนาโซล ไรแฟมพิซิน) เป็นต้น
อาการ
มักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ ด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด (ผอมลง) อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
อาจมีอาการท้องเดินบ่อย ท้องอืดเฟ้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้หญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือน
บางรายผิวหนังอาจมีรอยด่างขาวร่วมด้วย
ผู้ป่วยมักมีความดันต่ำ ทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียนเวลาลุกขึ้นเร็ว ๆ
ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์อ่อนไหว ซึมเศร้า หรือมีอาการของโรคจิต
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน (acute adrenal failure) หรือภาวะต่อมหมวกไตวิกฤติ ซึ่งอาจพบขณะเป็นโรคติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บ ขณะผ่าตัด ตั้งครรภ์ใกล้คลอด มีภาวะเครียดทางร่างกาย หรือขาดยาสเตียรอยด์ทันทีทันใด ทำให้มีไข้สูง ซึม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ความดันต่ำ ช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งที่ตรวจพบ ดังนี้
ผิวหนังจะมีสีดำคล้ำในบริเวณที่มีรอยถูไถ เช่น ข้อเข่า ข้อพับ ข้อศอก ที่หน้า หัวนม ลายมือ รอยแผล ผ่าตัด เป็นต้น และบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก (เหงือก ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น) อาจมีรอยตกกระดำ ๆ อาจพบภาวะซีด ความดันต่ำ ขนรักแร้และขนในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ร่วง ซึ่งจะเห็นชัดในผู้หญิง
แพทย์จะทำการวินิฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจเลือด (พบระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนสตีรอยต์ต่ำ ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ) เอกซเรย์ปอด (เพื่อตรวจดูการติดเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา หรือมะเร็ง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (เพื่อดูลักษณะผิดปกติของต่อมหมวกไต) และถ้าจำเป็นอาจต้องตรวจพิเศษ อื่น ๆ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้กินสเตียรอยด์ทดแทน เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) หรือเพร็ดนิโซโลน
ในรายที่มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำร่วมด้วย ให้กินยาเพิ่มอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone)
แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาโดยการตรวจเลือดเป็นระยะ และปรับขนาดยาตามความเหมาะสม ในช่วงที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อ ได้รับบาดเจ็บหรือการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาให้สูงขึ้นตามความต้องการของร่างกาย
นอกจากนี้ ถ้าพบว่ามีสาเหตุของการเกิดโรคนี้ชัดเจน เช่น การติดเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา ก็จำเป็นต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียนเวลาลุกขึ้นเร็ว ๆ มีสีดำคล้ำที่ผิวหนังในบริเวณที่มีรอยถูไถและบริเวณเยื่อเมือกในช่องปาก ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคแอดดิสัน ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกินอาหารให้เค็มจัด เพราะต้องการเกลือโซเดียมมากขึ้น และควรกินอาหารพวกโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) ให้มาก ๆ ควรกินบ่อยมื้อกว่าปกติ
ควรพกสมุดหรือบัตรติดตัวเป็นประจำ เขียนบอกถึงโรคที่เป็น และยาที่ใช้รักษา หากเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลันในเวลาใดเวลาหนึ่ง ผู้พบเห็นและแพทย์จะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้อง โดยให้น้ำเกลือและฉีดไฮโดรคอร์ติโซน เข้าทางหลอดเลือดดำทันที
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
กินยาแล้วไม่ทุเลา หรือ มีอาการไม่สบาย เช่น มีไข้ ซึม ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น หรือตั้งครรภ์
ขาดยาหรือยาหาย
กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเต็มที่ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากสาเหตุหลายอย่าง
อาจป้องกันได้สำหรับส่วนที่เกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น การรักษาโรคติดเชื้อ (เช่น วัณโรค เชื้อรา) ของต่อมหมวกไต การรักษามะเร็งของอวัยวะส่วนอื่นไม่ให้แพร่กระจายมาที่ต่อมหมวกไต การระมัดระวังในการใช้ยา (เช่น คีโตโคนาโซล ไรแฟมพิซิน)
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มีทางรักษาให้มีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ แต่ต้องกินยาทุกวัน อย่าได้ขาด
2. ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อ ตั้งครรภ์ หรือมีอาการไม่สบายอื่น ๆ อาจทำให้อาการกำเริบมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ อาจต้องเพิ่มขนาดของยาไฮโดรคอร์ติโซน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะต่อมหมวกไตวายเฉียบพลัน